โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายครูดิจิทัลแกนนำ”

วันที่โพสต์: Aug 05, 2016 2:23:58 AM

ตามที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อ 6.18 ต้องการให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้  ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าผู้ที่มีความสามารถทางด้านการใช้ดิจิทัลได้มากกว่า ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในสังคมเนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต สร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่ได้มากกว่าทำให้พัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นโยบายของทุกประเทศจึงพยายามเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชน และพยายามลดช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างประชาชนในชุมชนเมืองและชุมชนห่างไกล ที่เรียกว่า ช่องว่างดิจิทัล (digital divide) ดังนั้น การลดช่องว่างดิจิทัลของประเทศไทย จึงเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ในการขับเคลื่อนนโยบายฯ ดังกล่าว ไปสู่การเป็น Digital Thailand จำเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากจะเร่งสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่สำคัญ เช่น คลาวด์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ที่ทำให้ชีวิตที่สมาร์ท พร้อมก้าวสู่สังคมดิจิทัล และการบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประชาชนทุกกลุ่มวัยแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างทักษะและความตระหนักรู้ถึงประโยชน์และโทษ ตลอดจนการใช้งานอย่างสร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือนสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 พบว่าประชากรอายุ 6 ปี ขึ้นไป ประมาณ 62.3 ล้านคน มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 23.8 ล้านคน หรือ ร้อยละ 38.2 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 21.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 34.9 และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 48.1 ล้านคน หรือ ร้อยละ 77.2 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีการใช้อินเทอร์เน็ต(จำนวนชั่วโมงการใช้ต่อสัปดาห์) เพิ่มสูงขึ้นในทุกช่วงระยะเวลาการใช้งานเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2557  นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้สมาร์ทโฟนสูงสุดกว่าร้อยละ 80 โดยมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน และกิจกรรมที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตฯ ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อันดับ 1 คือการใช้ในการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น Facebook, Instagram, Line เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 82.7 ในขณะที่กิจกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตฯ ผ่านคอมพิวเตอร์ คือ ใช้ในการสืบค้นข้อมูลเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 62.2 และ ใช้ในการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เป็นอันดับ 3 ร้อยละ 45.3  ในขณะที่สถิติต่างๆ ข้างต้น ได้เพิ่มสูงขึ้น สถิติทางด้านภัยออนไลน์ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน ซึ่งจากสถิติภัยคุกคามที่แจ้งเข้ามายัง ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ "ไทยเซิร์ต" ปี 2558 มีภัยคุกคามไซเบอร์ที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 4,371 ราย สูงกว่าปีก่อนๆ หลายเท่าตัว โดยเมื่อปี 2555 มีสถิติภัยคุกคามเพียง 792 ราย ปี 2556 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1,745 ราย และในปี 2557 มีจำนวนมากถึง 4,007 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยไวรัส สปายแวร์ โทรจัน รองลงมาเป็นการฉ้อโกง/หลอกลวง และการเจาะระบบ

นอกจากภัยที่มากับการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ยังมีสิ่งที่ควรตระหนักถึงและน่าเป็นห่วงอย่างมากคือการรับรู้ข้อมูลที่มากเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนการได้รับการกระตุ้นให้เกิดความสนใจและต้องการข่าวใหม่ หรือการนำเสนอเรื่องราวหรือกระแสสังคมใหม่ บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ได้รับความสนใจ ทำให้เกิดการรับข้อมูล โดยขาดการกลั่นกรองแหล่งที่มาและข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันเนื้อหาที่เป็นข่าวลือ ประเด็นที่เป็นกระแส หรือนำเสนอเหตุการณ์ในอดีตโดยเสริมความคิดเห็นของตนเองเพื่อทำให้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายในยุคดิจิทัล ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวลือที่นำมาซึ่งความเกลียดชังและสร้างความแตกแยกในสังคม โดยขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ

สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตระหนักถึงปัญหาข้างต้น และความจำเป็นในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชน ให้สามารถเข้าถึง เรียนรู้ และได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม และตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม จึงเห็นควรดำเนินกิจกรรมศึกษากรอบแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลเบื้องต้น (Digital Literacy) สำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัยที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อใช้ในการส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลแก่ประชาชน ทั้ง เด็ก เยาวชนในและนอกระบบการศึกษา ครู ผู้ปกครอง วัยแรงงาน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ  เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน การอาชีพ และเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลในอนาคตอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป

วิธีการฝึกอบรม

ภาคทฤษฏี โดยวิธีการบรรยาย การระดมความคิดและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ การนำองค์ความรู้ไปขยายผล ตามหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเบื้องต้น (Digital Literacy Curriculum) ประกอบด้วยเนื้อหาแกน (The Core Curriculum) ดังต่อไปนี้

ภาคปฏิบัติ โดยวิธีการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้เรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลเบื้องต้น (Digital Literacy) เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ในการสอน จำนวน 100 คน โดยทำการจัดการเรียนการสอน จำนวนไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง